===Not Click=== ===Not Click===

ตำหนิพระนางพญา พิมพ์เทวดา วัดนางพญา พิษณุโลก





พระนางพญา หรือ พระพิมพ์นางพญา ซึ่งนิยมกันว่าเป็น ราชินีแห่งพระเครื่อง เป็นพระเครื่องที่พบอยู่ในพระเจดีย์ และบริเวณวัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ใดสร้างไว้ ในแผ่นจาลึกลานทองของพระครูอนุโยค วัดราชบูรณะ มีผู้คัดลอกกันไว้ว่า พระนางพญาสร้างในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา

จากการพิจารณาเนื้อดินและพุทธศิลปะของพระนางพญาแล้ว มีความเก่าถึงช่วงต้น ๆ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เฉพาะพิมพ์เข่าโค้งช่างในสมัยอยุธยาได้สร้างขึ้นเลียนแบบศิลปะสมัยสุโขทัย ซึ่งเห็นได้อย่างเด่นชัด นอกจากพิมพ์นี้พิมพ์เข่าตรงยังมีลักษณะใกล้เคียงกับศิลปะสมัยพระเจ้าอู่ทอง ๒ จากภูมิสถานของวัดนางพญาก็อยู่ในสกุลช่างเดียวกัน

เมื่อพิจารณาถึงกษัตริย์ทุกพระองค์ที่เคยครองเมืองพิษณุโลกแล้วพระบาทสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถครองเมืองพิษณุโลกนานที่สุด ในสมัยกรุงศรีอยุธยานับเป็นยุคทองของพระพุทธศาสนาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมืองพิษณุโลกเป็นราชธานีแห่งที่ ๒ มีความพรั่งพร้อมทั้งกำลังพลและกำลังทางเศรษฐกิจ พระนางพญาคงสร้างขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ.๒๐๐๗-๒๐๒๕ ในคราวเดียวกันกับที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ก่อสร้างพระปรางค์แบบต้นสมัยอยุธยาที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลกและได้บูรณะพระสถูปเจดีย์ใหญ่ ฐานคล้ายเจดีย์มอญ ที่วัดราชบูรณะ ซึ่งพระสถูปเจดีย์องค์นี้ยังเป็นสง่า อยู่ริมฝั่งลำน้ำน่านจนบัดนี้

พระนางพญา เป็นพระดินเผาที่มีเนื้อหยาบที่สุดในบรรดาพระเนื้อดินชุดเบญจภาคี มีเนื้อสีอิฐแดงเหลือง เนื้อเขียว เนื้อดำ จุดเด่นของเนื้อพระนางพญา คือ มวลดินประเภทเม็ดทรายที่แทรกปนอยู่ในเนื้อเป็นจำนวนมากเรียกกันว่าเม็ดแร่ ขนาดสัณฐานของเม็ดทรายจะต้องใกล้เคียงกันทั่วองค์พระ เพราะเป็นเนื้อที่ผ่านการกรองมาแล้ว



พิมพ์และตำหนิเอกลักษณ์ 

พระนางพญา มี ๗ พิมพ์ ด้วยกัน คือ
     ๑. พิมพ์เข่าโค้ง
     ๒. พิมพ์เข่าตรง
     ๓. พิมพ์เข่าตรง ( มือตกเข่า)
     ๔. พิมพ์อกนูนใหญ่
     ๕. พิมพ์สังฆาฏิ
     ๖. พิมพ์อกนูนเล็ก
     ๗. พิมพ์อกแฟบ ( พิมพ์เทวดา)

ตำหนิเอกลักษณ์

     ๑. พระเกศเหมือนปลีกล้วย
     ๒. ปรากฏกระจังหน้าชัดเจน
     ๓. หน้าผากด้านขวาขององค์พระจะยุบหรือบุบน้อยกว่าหน้าผากด้านซ้ายขององค์พระ
     ๔. ปลายหูด้านซ้ายมือขององค์พระ จะติดเชื่อมกับสังฆาฎิ
     ๕. ปลายหูด้านขวามือขององค์พระ จะแตกเป็นหางแซงแซว
     ๖. เส้นอังสะจะช้อนเข้าใต้รักแร้
     ๗. จะมีเม็ดผดขึ้นอยู่ระหว่างเส้นอังสะกับเส้นสังฆาฎิ
     ๘. ท้องขององค์พระจะมีกล้ามเนื้อเป็น ๓ ลอน
     ๙. ปลายมือพระหัตถ์ข้างซ้ายขององค์พระจะแหลมแตกเป็นหางแซงแซว
    ๑๐. พระหัตถ์ที่วางบนเข่า จะไม่มีนิ้วมือยื่นเลยลงมาให้เห็น

พระนางพญา พิมพ์เทวดา หรือ พิมพ์อกแฟบนั้น ศิลปะแม่พิมพ์จะมีส่วนคล้ายคลึง พระนางพญา พิมพ์สังฆาฏิ ต่างกันตรงที่พระนางพญา พิมพ์เทวดา มีศิลปะแม่พิมพ์ที่อ่อนช้อยกว่าพระนางพญา พิมพ์ สังฆาฎิ
 
คำว่า "พิมพ์อกแฟบ" ถ้าเผลอไปทักสาวๆ คนทักอาจมีอันเป็นไปก่อนวัยอันควร แต่สำหรับแวดวงพระเครื่องแล้วนักเลงพระรุ่นเก่าๆเขาใช้กันมาเนิ่นนานครับ ต่อมามีการจัดระบบจัดทำเนียบพระเครื่องกันใหม่เขาก็เลยบัญญัติศัพท์ใหม่ให้ไพเราะโสตว่าพิมพ์เทวดาในภายหลัง เอกลักษณ์ของแม่พิมพ์ชนิดนี้มีความโดดเด่นเฉพาะตัว และถือว่าเป็นพิมพ์ที่พบเห็นได้ยากที่สุดในบรรดาทุกแม่พิมพ์ของพระตระกูลพระนางพญา ยิ่งในปัจจุบันแล้ว ความนิยมพระที่มีขนาดกระทัดรัตมีมาก ความต้องการเสาะแสวงหาพระสมเด็จนางพญาพิมพ์นี้ยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณครับ ส่วนรายละเอียดพิมพ์ทรงของ “พระ นางพญาพิมพ์เทวดา” มีพุทธลักษณะที่คล้าย กับ “พิมพ์สังฆาฏิ” คือตรงบริเวณ พระพักตร์ (หน้า) จะมีลักษณะแบบเดียวกัน ส่วนที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดก็คือการ “ตัดขอบองค์พระ” โดย “พิมพ์สังฆาฏิ” ส่วนใหญ่จะตัดขอบในลักษณะเป็นรูป “สามเหลี่ยมด้านเท่า” แต่ “พิมพ์ เทวดา” จะตัดขอบในลักษณะเป็น “สามเหลี่ยมหน้าจั่ว” และเพราะการตัดขอบที่แตกต่างกันนี้เองจึงทำให้ “พิมพ์เทวดา” มองดูแล้วจะสูงชะลูดกว่า “พิมพ์สังฆาฏิ” นอกจากนี้ตรงบริเวณ “เส้นสังฆาฏิ” ในองค์ “พิมพ์สังฆาฏิ” จะปรากฏเส้นสังฆาฏิหนาใหญ่ ส่วน “พิมพ์เทวดา” จะมีลักษณะที่ แฟบหรือแบนราบ จึงเป็นการแยกแยะพิมพ์พระทั้งสองพิมพ์นี้ได้ง่าย

พระนางพญา พิมพ์เทวดามีจุดสังเกตได้ดังนี้


    ๑. การตัดขอบพระทั้งสามด้าน ส่วน ใหญ่จะมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมหน้าจั่ว
    ๒. พระเกศ (ผม) จะคล้ายกับ ปลีกล้วยเช่นเดียว กันกับพิมพ์สังฆาฏิ
    ๓. เส้นครอบ พระเศียร (ศีรษะ) จะเป็นเส้นต่อเนื่อง จรดพระกรรณ (หู) และยาวจรด พระอังสา (ไหล่) ทั้งสองข้าง
    ๔. เส้นพระ กรรณ (หู) มีลักษณะเป็นเส้นเล็กเรียวกว่า พิมพ์สังฆาฏิ และเส้น พระกรรณด้านซ้าย องค์พระจะเป็นเส้นเรียวเล็กกว่าด้านขวา
    ๕. เส้นสังฆาฏิด้านบน จะเลยทะลุ พระอังสา (ไหล่) ด้านซ้ายองค์พระ ส่วนปลาย เส้นสังฆาฏิด้านล่าง จะโค้งงอพองาม
    ๖. พระอุระ (อก) จะมีลักษณะแฟบหรือแบนราบกว่า พิมพ์สังฆาฏิ จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ที่เรียกในอดีตว่า พิมพ์อกแฟบ.

    *** พิมพ์นี้บริเวณกระจัง (ครอบพระเศียร) และ พระกรรณ จะมีเส้นเชื่อมต่อเนื่องลากลงมาจรตพระอังสา (ฟาดไหล่) ซึ่งคล้ายคลึงกับเครื่องทรงของเทวดา และนี่เป็นที่มาของชื่อพิมพ์เทวดานั่นเอง!

ขอบคุณที่มา : ภูภู95พระเครื่อง