===Not Click=== ===Not Click===

ตำหนิพระนางพญาพิมพ์เข่าตรง





พระนางพญา กรุวัดนางพญา จ.พิษณุโลก

พระนางพญาพิมพ์เข่าตรง ก็เป็นอีก “พระนางพญา” ที่ถือกำเนิดจากกรุ วัดนางพญาที่ในอดีตเป็นวัดเดียวกันกับ “วัดราชบูรณะ” อ.เมือง จ.พิษณุโลก ที่ต่อมาได้มีการสร้างถนนผ่านกลาง “วัดราชบูรณะ” จึงทำให้มีการแบ่งออกเป็นสองวัดที่ตั้งอยู่ติดกันโดยมีถนนคั่นกลางเท่านั้นพร้อมกับตั้งชื่อวัดว่า “วัดนางพญา” เนื่องจากมีการพบยอดพระกรุเนื้อดินที่ถูกบรรจุให้เป็น 1 ใน 5 ของพระชุด “พระเบญจภาคี” ประเภทเนื้อผงผสมเนื้อดิน ซึ่งก็คือ “พระนางพญา” ที่ “พระวิสุทธิกษัตรี” พระมารดาของ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช”ทรงสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. ๒๐๙๐-๒๑๐๐ เมื่อครั้งพระสวามี สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงครองเมืองพิษณุโลกนั่นเอง

สำหรับ “พระนางพญาพิมพ์เข่าตรง” จัดเป็นพิมพ์ที่ได้รับความนิยมรองลงมาจาก “พิมพ์เข่าโค้ง” เนื่องจากมีขนาดและความหนาบางขององค์พระ ตลอดทั้งรายละเอียดของพิมพ์ที่ใกล้เคียงกัน จะต่างกันก็ตรงบริเวณ “พระเพลา” (ตัก) ที่ประทับนั่งสมาธิราบ โดย “พิมพ์เข่าโค้ง”จะมีลักษณะ “โค้งงอแต่พองาม” จึงเรียกว่า “พิมพ์เข่าโค้ง” ส่วนพิมพ์เข่าตรงจะเป็น “เส้นตรง” จึงเรียกว่า “พิมพ์เข่าตรง” โดย “พิมพ์เข่าตรง” นี้มีการแบ่งแยกออกเป็น 2 พิมพ์ตามลักษณะขององค์พระคือ “พิมพ์เข่าตรง” (มือไม่ตกเข่า) และ พระนางพญาพิมพ์เข่าตรงมือตกเข่า ด้วยเหตุนี้จุดสังเกตของทั้งสองพิมพ์ จึงแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยโดยวันนี้ขอนำพิมพ์ “มือไม่ตกเข่า” มาเสนอก่อนดังนี้

ตำหนินางพญาพิมพ์เข่าตรง

1. พระเกศ (ผม) มีทั้งแบบตรงและเอียงไปทางด้านขวามือองค์พระเล็กน้อย พระนลาฏ (หน้าผาก) จะมีร่องรอยของการยุบตัว (เช่นเดียวกับพิมพ์เข่าโค้งอันเกิดจากแม่พิมพ์)

2. พระพักตร์ (หน้า) ในองค์ที่ติดชัดจะปรากฏ พระเนตร (ตา) พระโอษฐ์ (ปาก) ชัดเจนกว่าพิมพ์เข่าโค้ง

3. พระกรรณ (หู) ทั้งสองข้างมีลักษณะคล้ายพระจันทร์เสี้ยว และมีระยะห่างกับพระพักตร์แต่พองาม โดยปลายพระกรรณ ด้านซ้ายองค์พระจะเชื่อมติดกับเส้นสังฆาฏิที่บริเวณ พระอังสา (ไหล่) ด้านซ้ายองค์พระที่ทอดยาวลงไปถึง พระนาภี (สะดือ)

4. ปรากฏเส้นจีวร ชัดเจนและชอนไปยัง พระกัจฉะ (รักแร้) ด้านขวามือองค์พระและบริเวณ พระอุทร (ท้อง) ด้านซ้ายมือองค์พระที่ติดกับปลายเส้นสังฆาฏิจะมี เนื้อเกิน เป็นข้อสังเกต

5. พระเพลา (ตัก) ด้านขวาองค์พระจะเป็นเส้นเล็กและมีลักษณะเป็น “เส้นตรง” อันเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ที่วิ่งเป็นเส้นคู่ขนานกับพระเพลาด้านซ้ายที่หนาใหญ่กว่าเท่าตัว

6. พระกร (มือ) ด้านขวาองค์พระที่วางพาดไปยังพระเพลา จะไปสิ้นสุดตรงพระเพลาขวาพอดี โดย ไม่พาดเลยลงไปยังด้านล่าง (ที่มาของชื่อพิมพ์มือไม่ตกเข่า).