===Not Click=== ===Not Click===

แยกพิมพ์พระนางพญา จ.พิษณุโลก





พระนางพญา วัดนางพญา จ.พิษณุโลก หนึ่งใน ‘พระชุดเบญจภาคี’ สุดยอดพระเครื่องของไทยนั้น พุทธลักษณะโดยรวมจะคล้ายกัน คือ เป็นพระรูปทรงสามเหลี่ยม พุทธศิลปะสุโขทัย ปางมารวิชัย พระหัตถ์ขวาพาดที่พระชานุ พระหัตถ์ซ้ายวางตรงพระเพลา และแบ่งแยกพิมพ์ตามเอกลักษณ์เฉพาะได้ทั้งหมด 6 พิมพ์ คือ พิมพ์เข่าโค้ง, พิมพ์เข่าตรง, พิมพ์อกนูนใหญ่, พิมพ์สังฆาฏิ, พิมพ์เทวดา และ พิมพ์อกนูนเล็ก ฉบับนี้เรามาดูเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละพิมพ์กัน

พระนางพญา พิมพ์เข่าโค้ง 


เป็นหนึ่งพระนางพญาพิมพ์ใหญ่ ให้สังเกต ‘พระเพลา’ ที่วางซ้อนกัน จะมีลักษณะโค้งเล็กน้อย คล้าย ‘เรือสำเภา’ วงการพระจึงขานนามว่า "พิมพ์เข่าโค้ง" ซึ่งจะมีเพียงพิมพ์เดียวเท่านั้น จึงค่อนข้างง่ายต่อการสังเกตและจดจำ ถือเป็นพิมพ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในบรรดาพระนางพญาด้วยกัน

ลักษณะการตัดขอบทั้ง 3 ด้าน จะเป็นสามเหลี่ยมหน้าจั่ว  และตัดค่อนข้างชิดกับองค์พระ จนส่วนใหญ่จะตัดปลายพระกรรณและพระชานุขององค์พระขาดหายไปบ้าง เนื้อที่บริเวณปีกด้านข้างขององค์พระจะมีน้อยมาก พระพักตร์ส่วนใหญ่จะเป็นศิลปะเกลี้ยงๆ ไม่มีหน้าตาชัดนัก ลักษณะของพระเนตร พระนาสิก และพระโอษฐ์ จะมีแผ่วบาง ไม่ชัดเจนเหมือน ‘พิมพ์เข่าตรง’


พระนางพญา พิมพ์เข่าตรง

พระนางพญา พิมพ์เข่าตรง 


‘พระเพลา’ ที่วางซ้อนกันจะมีลักษณะเป็นเส้นตรง จึงเป็นที่มาของชื่อ “พิมพ์เข่าตรง” ซึ่งจะแบ่งออกเป็นพิมพ์ย่อยได้ 2 พิมพ์ คือ พิมพ์เข่าตรง และ พิมพ์เข่าตรงมือตกเข่า เป็นหนึ่งในพระนางพญาพิมพ์ใหญ่ที่ได้รับความนิยมสูงรองลงมาจาก “พิมพ์เข่าโค้ง”

ลักษณะการตัดขอบทั้ง 3 ด้าน จะเป็นสามเหลี่ยมหน้าจั่ว และศิลปะบนพระพักตร์จะปรากฏชัดเจนกว่าพิมพ์เข่าโค้ง

พระนางพญา พิมพ์อกนูนใหญ่ ‘พระอุระ (หน้าอก)’ จะนูนใหญ่กว่าพิมพ์อื่นๆ อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตามชื่อพิมพ์ พระวรกายดูล่ำสันบึกบึนกว่า พระเพลามีลักษณะโค้งคล้ายกับพิมพ์เข่าโค้ง แต่จะนูนและหนาใหญ่กว่าทุกพิมพ์ เป็นอีกหนึ่งในกลุ่ม ‘พระนางพญาพิมพ์ใหญ่’


พระนางพญา พิมพ์อกนูนใหญ่

ลักษณะการตัดขอบทั้ง 3 ด้าน จะเป็นสามเหลี่ยมหน้าจั่ว เป็นพิมพ์ที่มีจำนวนน้อยมากและหายากมากที่สุด ในวงการพระเองยังมีหมุนเวียนอยู่ไม่กี่องค์ ขนาดรูปภาพก็ยังหาชมได้ยากยิ่ง

พระนางพญา พิมพ์สังฆาฏิ 


เป็นพระนางพญาพิมพ์เล็ก คือ มีขนาดเล็กกว่า ‘พระนางพญาพิมพ์ใหญ่’ ซึ่งประกอบด้วย พิมพ์เข่าโค้ง พิมพ์เข่าตรง และพิมพ์อกนูนใหญ่ แต่พิมพ์สังฆาฏินี้จะมีขนาดเขื่องกว่าพิมพ์เทวดาและพิมพ์อกนูนเล็กเล็กน้อย ‘เส้นสังฆาฏิ’ จะมีความหนาเป็นแผ่นใหญ่ จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ องค์พระจะดูผึ่งผาย พระพักตร์แป้นและกว้างกว่า รวมทั้งพระหนุ (คาง) ก็จะป้านกว่า พิมพ์เทวดาและพิมพ์อกนูนเล็ก

ลักษณะการตัดขอบทั้ง 3 ด้าน ค่อนข้างหรือเกือบจะเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า   ซึ่งแตกต่างจากพิมพ์อื่นๆ ที่มีการตัดขอบเป็นสามเหลี่ยมหน้าจั่ว


พระนางพญา พิมพ์สังฆาฏิ

พระนางพญา พิมพ์เทวดา 


หรือที่เรียกว่า “พิมพ์อกแฟบ” เป็นพระนางพญาพิมพ์เล็ก มีขนาดใกล้เคียงกับพิมพ์อกนูนเล็ก  แต่องค์พระจะดูบอบบางกว่าทุกพิมพ์ ศิลปะแม่พิมพ์จะมีส่วนคล้ายคลึงกับ ‘ พิมพ์สังฆาฏิ’ แต่อ่อนช้อยกว่า นอกจากนี้ให้สังเกตพิมพ์ด้านหน้าขององค์พระจะมีเม็ดผดค่อนข้างมาก แต่เฉพาะส่วนสูงขององค์พระจะไม่มีเม็ดผดขึ้น ต่างจากพิมพ์ด้านหลังที่ปรากฏทั่วบริเวณ ลักษณะการตัดขอบเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว


พระนางพญา พิมพ์เทวดา

พระนางพญา พิมพ์อกนูนเล็ก 


ครูบาอาจารย์สมัยก่อนมักเรียกว่า “พิมพ์สุดสวาท” เป็นอีกหนึ่งพิมพ์ของพระนางพญาพิมพ์เล็ก ‘พระอุระ’ จะนูนอวบแบบพิมพ์อกนูนใหญ่ แต่มีขนาดเล็กกว่า ซึ่งเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ ถ้าสังเกตดูจะเห็นว่า ศิลปะองค์พระค่อนข้างแข็ง ไม่อ่อนช้อยเหมือนพระนางพญาพิมพ์อื่น นอกจากนี้ ยังเป็นพิมพ์เดียวที่ไม่มีศิลปะรอยยุบที่พระนลาฏ (หน้าผาก) เหมือนพระนางพญาพิมพ์อื่นๆ อีกด้วย ลักษณะการตัดขอบเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่วเช่นกัน


พระนางพญา พิมพ์อกนูนเล็ก

วิธีการพิจารณา ‘พระนางพญา วัดนางพญา’ นั้น นอกจากหลักการพิจารณาเบื้องต้นเกี่ยวกับคุณสมบัติของเนื้อดิน ผิวขององค์พระซึ่งถูกกัดกร่อนตามกาลเวลา ความเป็น Plastic Cover กรรมวิธีการตัดขอบ และเม็ดผดซึ่งจะขึ้นอยู่ทั่วไปทั้งด้านหน้าและด้านหลังองค์พระแล้ว ยังต้องพิจารณา “ศิลปะบนพระพักตร์” ด้วย เพราะ ‘พระนางพญา วัดนางพญา’ ทุกพิมพ์นั้น ถึงจะมี พระเนตร พระนาสิก และพระโอษฐ์ แต่ศิลปะจะเป็นลักษณะให้เห็นรางๆ หรือนูนขึ้นมาบ้างเล็กน้อยเท่านั้น มิได้เป็นเส้นชัดเจนเหมือนพระนางเสน่ห์จันทร์ หรือพระในสกุลขุนแผน และเมื่อพิจารณา ‘เอกลักษณ์เฉพาะ’ ของแต่ละพิมพ์ดังที่กล่าวไปแล้วนี้ ก็ยังต้องจดจำจุดตำหนิแม่พิมพ์ของพิมพ์ต่างๆ ทั้ง 6 พิมพ์ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันออกไปได้อย่างแม่นยำด้วย เรียกว่าต้องใช้ความชำนาญและการเรียนรู้อย่างมาก กว่าจะหา ‘พระแท้’ ที่หายากยิ่งได้สมใจสักองค์

โดย ราม วัชรประดิษฐ์
www.arjanram.com