===Not Click=== ===Not Click===

วิธีดูตำหนิพระนางพญาพิมพ์อกนูนใหญ่ จังหวัดพิษณุโลก

พระนางพญาพิมพ์อกนูนใหญ่
จังหวัดพิษณุโลก
โดย…ช้าง–วัดห้วย


วัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก เป็นวัดค่อนข้างเล็ก แต่ที่สำคัญเป็นต้นกำเนิดของพระนางพญา 1 ในเบญจภาคีที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และเป็นที่เคารพนับถือของคนไทยทั้งประเทศ

พระนางพญาเป็นพระที่อยู่ในกรุเจดีย์วัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก ภายหลังเจดีย์ได้ชำรุด และหักโค่นลงมาได้พบพระนางพญาและพระอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก ต่อมาทางวัดได้รวบรวมบางส่วนไปบรรจุไว้ตามเจดีย์ต่าง ๆ เช่น เจดีย์วัดอินทรวิหาร, วัดสังกระจาย และบริเวณใกล้เคียงเพื่อเป็นการสืบทอดพุทธศาสนามาจนถึงทุกวันนี้

พระนางพญาแบ่งออกเป็น 2 ขนาด คือพิมพ์ใหญ่ และพิมพ์เล็ก พิมพ์ใหญ่ ได้แก่ นางพญาพิมพ์เข่าโค้ง, นางพญาพิมพ์เข่าตรง, นางพญาพิมพ์เข่าตรง (มือตกเข่า) และนางพญาพิมพ์อกนูนใหญ่  พิมพ์เล็ก ได้แก่ นางพญาพิมพ์สังฆาฏิ, นางพญาพิมพ์เทวดา, นางพญาพิมพ์อกนูนเล็ก

วันนี้ผู้เขียนขอบรรยาย นางพญาพิมพ์อกนูนใหญ่ ซึ่งเป็นพระที่มีค่อนข้างน้อย ขนาดหาชมจากรูปภาพยังหาชมได้ยากเลย และในวงการพระก็มีหมุนเวียนอยู่ไม่กี่องค์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นองค์หน้าเดิมทั้งสิ้น ใครมีก็ต่างหวงแหนเมื่อเทียบกับนางพญาพิมพ์อื่น ๆ แล้ว นางพญาพิมพ์อกนูนใหญ่มีน้อยมากและหายากที่สุด

สำหรับขนาดของนางพญาพิมพ์อกนูนใหญ่ (วัดจากตัวจริง) ขนาดความสูง ประมาณ 3.4 เซนติเมตร ขนาดฐานกว้าง ประมาณ 2.4 เซนติเมตร

แม่พิมพ์พระนางพญา
แม่พิมพ์ของพระนางพญาทุกพิมพ์ สันนิษฐานว่าแกะจากไม้ และน่าจะเป็นไม้มงคล เช่น ไม้สัก เมื่อแกะแม่พิมพ์ไม้เสร็จแล้ว ก็นำไปกดในดินเหนียว เราก็จะได้แม่พิมพ์ดิน ซึ่งเป็นแอ่งตามรูปของพระนางพญา แล้วนำแม่พิมพ์ไปตากให้แห้ง แล้วนำไปเผา เราก็จะได้แม่พิมพ์ พระนางพญาที่เป็นดินเผา แล้วนำดินที่จะทำพระนางพญาไปกดในแม่พิมพ์ดินเผา เราก็จะได้พระนางพญาที่ยังเปียกอยู่นำไปตากให้แห้ง แล้วนำไปเผา เราก็จะได้พระนางพญาตามต้องการ

การตัดขอบข้าง
นางพญาทุกพิมพ์ส่วนใหญ่รอยตัดข้างจะเฉียง ส่วนตัดตรง ๆ ลงมาก็มีบ้างเล็กน้อย และรอยตัดทางซ้ายและทางขวาจะเฉียงตรงข้ามกัน สันนิษฐานว่าการตัด ตัดจากด้านหน้าแล้วไถเฉือนขึ้นบนเล็กน้อย ถ้าคนถนัดขวาจะตัดด้านซ้ายมือของพระก่อนแล้วหมุนหัวพระลงในลักษณะตั้งฉาก แล้วตัดด้านขวาของพระ (มันถึงจะเฉียงตรงข้ามกัน) ส่วนด้านฐาน ก็หมุนหัวเข่าขวาพระลงในลักษณะตั้งฉาก แล้วค่อยตัด ส่วนคนถนัดซ้าย ก็ทำตรงกันข้าม ส่วนรอยครูดเกิดจากการตัดไปโดนเม็ดกรวดทราย ครูดไปในทิศทางการตัด


ดิน, ความเปลี่ยนแปลงของสีดิน, การเผา
ดินที่นำมากดพระนางพญา สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นดินภายในจังหวัดพิษณุโลก เป็นดินค่อนข้างหยาบ และมีเม็ดกรวดปะปนบ้าง ส่วนดินเนื้อละเอียดก็มีบ้าง ส่วนความเปลี่ยนแปลงของ    สีดินขึ้นอยู่กับการเผาและชนิดของดิน แร่ธาตุต่าง ๆ ในดิน และอุณหภูมิการเผา จึงทำให้           พระนางพญามีสีแตกต่างกัน เช่น
  • สีดำ เกิดจากการเผาไม่ทั่วถึง หรืออุณหภูมิความร้อนต่ำหรือยังไม่สุกดี
  • สีแดง เกิดจากการเผาด้วยอุณหภูมิความร้อนพอดีและคงที่สม่ำเสมอ
  • สีเขียว เกิดจากการเผาด้วยอุณหภูมิความร้อนสูง และเป็นเวลานาน

สุดท้าย ในการศึกษาพระเครื่องแต่ละอย่าง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือแม่พิมพ์ รองลงมาก็คือ เนื้อพระ, สภาพผิวพระ, การหดตัว, การตัดขอบพระอื่น ๆ อีกมากมาย ส่วนผู้เขียนอยากจะแนะนำให้ทุก ๆ ท่าน ศึกษาจากพระแท้ ดูบ่อย ๆ หลาย ๆ สภาพ ถ้าเป็นพระราคาสูงให้ดูจากรูปถ่าย หารูป   พระค่อนข้างสวยมาเปรียบเทียบ สัก 2-3 ภาพ และพยายามค้นหาจุด “ตำหนิลับเฉพาะ” ที่เป็นของตัวเอง ซึ่งแตกต่างจากตำราทั้งหลาย วันนี้ ผู้เขียนจะชี้ตำหนิ นางพญาอกนูนใหญ่ให้ดูก่อน


นางพญาพิมพ์อกนูนใหญ่


รายละเอียดตำหนิพิมพ์ นางพญาพิมพ์อกนูนใหญ่

    1.    เกศเหมือนปลีกล้วย แต่ค่อนข้างจะสั้น (เฉพาะแม่พิมพ์นี้)
    2.    กระจังหน้าด้านขวาพระโก่งขึ้น
    3.    หน้าผากด้านขวาพระใต้กระจังยุบต่ำลงเมื่อเทียบกับด้านซ้ายพระ หน้าผากด้านซ้ายพระช่วงริมจะมีเนื้อเชื่อมถึงกระจัง
    4.    หูด้านขวาพระทิ้งตรงปลายหูแตกเป็น 2 แฉก หูด้านซ้ายพระช่วงปลายด้านล่างจะงอน
    5.    รักแร้ถึงหัวไหล่ข้างซ้ายพระมีเนื้อที่แคบ ส่วนด้านขวาพระมีเนื้อที่กว้างกว่า
    6.    ถ้ากดแม่พิมพ์ติดชัด และไม่เขยื้อน ปลายมือซ้ายแตกเป็น 2 แฉก
    7.    แขนซ้ายพระช่วงข้อศอกถึงหัวไหล่ ช่างแกะแม่พิมพ์ขนาดแขนเท่า ๆ กัน แต่จะ          มีขนาดแขนเล็กกว่าข้างขวาพระ ซึ่งช่างจะแกะแม่พิมพ์ช่วงข้อศอกขวาพระเล็ก และค่อย ๆ ใหญ่ไปจนถึงหัวไหล่
    8.    มีเนื้อห้อยลงมาจากข้อศอกซ้ายพระ
    9.    ขาด้านในแกะแม่พิมพ์ต่ำมีจุดเว้าที่ขา 2 จุดตามลูกศรชี้ (เฉพาะแม่พิมพ์นี้)



ด้านหลัง
 
1.    ขอบข้างของพระนางพญาทุกพิมพ์จะเป็นสันสูงขึ้นมาเล็กน้อย เมื่อเทียบกับตรงกลางแผ่นหลัง ถ้าเป็นแม่พิมพ์ใหญ่คือเข่าโค้ง, เข่าตรง, อกนูนใหญ่ยิ่งจะเห็นได้ชัดเจน
 
2.    ส่วนแผ่นหลังตรงกลาง และทั่วบริเวณแผ่นหลังจะมีรอยคล้ายลายมือเต็มทั่วแผ่นหลัง สันนิษฐานว่าเป็นลายมือคนกดแม่พิมพ์ เพียงแต่กดย้ำไปย้ำมาทับไปทับมา จึงมองเห็นลายมือไม่ชัดเจน
 
3.    ส่วนรอยสูง ๆ ต่ำ ๆ บนแผ่นหลัง เกิดจากการหดตัวของดินที่อยู่รอบ ๆ เม็ดกรวด ส่วนเม็ดกรวดไม่หดตัวจึงเกิดพื้นผิวที่แตกต่างกัน ข้อนี้เป็นอีกหนึ่งข้อพิจารณา ความมีอายุของเนื้อพระและพื้นผิวของพระได้เป็นอย่างดี